“แบงก์ชาติ” เลื่อนเปิดทดสอบ CBDC ภาคประชาชนปลายปี 65

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยแผนแม่บทโครงการ CBDC สำหรับภาคประชาชน โดยตอนนี้อยู่ในขั้นพัฒนา ชี้อาจเปิดทดลองแบบ SAND BOX ภายในปลายปี 2565 หวังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินตรา และต่อยอดระบบการเงินได้ ชี้ไม่ได้นำมาใช้เพื่อทดแทนระบบเงินตราเดิม หรือเพื่อแข่งกันกับคริปโทเคอร์เรนซี ชูจุดเด่น CBDC มีเสถียรภาพใช้เป็นสื่อกลางชำระเงินได้มีความปลอดภัยสูงมูลค่าไม่ตกไม่ผันผวน มีสินทรัพย์หนุน

นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแผนแม่บทการพัฒนา CBDC ว่า ขณะนี้โครงการ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ในส่วนของ Retail CBDC ที่ออกมาใช้กับภาคประชาชนนั้นมีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้ประชาชนเริ่มทดลองใช้ CBDC ในกรอบ sandbox ได้ประมาณครึ่งหลังของปี 2565 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยหารือกับผู้เข้าร่วมทดสอบ รวมถึงนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาปรับใช้ ก่อนที่จะสามารถเปิดให้บริการได้ ซึ่ง CBDC จำเป็นต้องเข้าสู่แผนการทดสอบ 2 ส่วนสำคัญ ด้านแรกคือ การรองรับการใช้งานพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อให้ระบบสามารถเชื่อมโยงกันได้ และมีความปลอดภัยในการใช้บริการ จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ในส่วนของ Innovation track คือการต่อยอดบริการไปสู่ การโอน ถอน จ่าย ซึ่งอาจจะต้องมีการทดสอบเพื่อหาช่องโหว่และข้อผิดพลาดต่าง และเอามาประเมินร่วมกันโดยหากเอกชนทำแล้วจะกระทบต่อความเสี่ยงในด้านใดบ้าง

สำหรับ CBDC นั้นมีหลักๆ แล้ว มีคุณสมบัติเหมือนเงินบาทหรือธนบัตร เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย และสามารถรักษามูลค่าให้ไม่ผันผวนได้

“ในการเปิดทดสอบระบบช่วงแรกหากทำออกมาได้ดี สามารถขยายส่วนไปสู่การต่อยอดต่างๆได้ ก็จะขยับไปสู่การทดสอบในเฟสต่อไปซึ่งเป็นวงที่กว้างขึ้น ก่อนนำออกไปใช้จริงได้ ขณะที่ในส่วนของรูปแบบการใช้ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด โดยอาจจะต้องมีบัญชีแยกของ CBDC กับเงินฝาก หรืออาจสร้างซูเปอร์แอพพลิเคชั่นขึ้นมาซึ่งด้านรายละเอียดจะต้องมาดูอีกครั้ง”

ขณะที่นายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวถึงการพัฒนา Retail CBDC ว่า จุดประสงค์ของการสร้างขึ้นมานั้น ธปท.ไม่ได้ต้องการทำมาแข่งกับ สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ เช่น Stable Coin หรือ Cryptocurrency แต่จุดประสงค์ก็เพื่อเติมเต็มในเรื่องของเงินสด ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนจากการใช้ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์ ในรูปแบบเดิมมาอยู่ในรูปของดิจิทัล หรืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต การเก็บรักษา และให้เกิดการต่อยอดในการให้บริการเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

“การพัฒนา Retail CBDC ของประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาทดแทนการบริการชำระเงินที่มีอยู่เดิม หรือการให้บริการของภาคเอกชน แต่เป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการต่อยอดนวัตกรรมการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนในอนาคต เช่นธึรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของธนาคารกลางอื่น ๆ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา”

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket