“อาคม” มั่นใจ GDP ปี 65 โต 3.5-4.5% ตั้งธง 10 ปี การคลังยั่งยืน

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Future of Growth Forum: Thailand Vision 2030” ว่า คาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะยังอยู่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 แต่หากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนร่วมมือกันในการลดการแพร่ระบาดก็จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจได้

ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ จนถึงช่วง 10 ปีข้างหน้า มองว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น หากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ก็อาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการหารือถึงเรื่องการปรับตัวเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในอนาคต โดยปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกับเศรษฐกิจไทยใน 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ นโยบายที่สำคัญของไทยคือการสนับสนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 2. เทคโนโลยีดิจิทัล 3. การแพทย์ และบริการด้านสาธารณสุข มีแนวโน้มจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากบริการท่องเที่ยวควบคู่กับบริการด้านสุขภาพ ไปเป็นอสังหาริมทรัพย์ควบคู่บริการด้านสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการดึงดูดและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น

4.การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 5. การท่องเที่ยว ที่จะต้องคำนึงถึงการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ 6. ความคุ้มครองทางสังคม คือการสร้างวินัยทางการเงิน การออม ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมได้อย่างทั่วถึงในยามที่เกิดวิกฤติทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจฐานราก และ7. โครงสร้างประชากร และสังคมผู้สูงอายุ โดยต้องมีระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสม วางแนวทางเรื่องการทดแทนแรงงานในอนาคตที่จะลดลง การจ้างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ

ส่วนนโยบายการคลังในอนาคตหลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีภาระทางการคลังค่อนข้างมาก จากการจัดหาเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็น คือ ความยั่งยืนทางการคลัง ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการทางการคลัง และการจัดเก็บรายได้ การเร่งขยายฐานภาษี ฐานรายได้ ตรงนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐบาลประสบปัญหาค่าใช้จ่ายสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ 2. กรอบกติกาภาษีของโลกใหม่ ที่เน้นในการลดความเหลื่อมล้ำในการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ผ่านข้อตกลงการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งจะช่วยความยั่งยืนด้านภาษี และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในอนาคต

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่มั่นคง ส่วนในระยะยาวเศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญปัญหา ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากความท้าทายในเรื่องสังคมผู้สูงวัย ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้า การมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นต้น ดังนั้นหากไทยไม่มีการปรับโครงสร้างจะทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวของเราเติบโตได้อย่างจำกัดมากขึ้น

อ้างอิง
https://siamrath.co.th/economy